Hans Zimmer – Pirates of the Caribbean: At World’s End

Tracklist
01. Hoist The Colours
(5/5)
02. Singapore
(4/5)
03. At Wit’s End (5/5)
04. Multiple Jacks (5/5)
05. Up Is Down (5/5)
06. I See Dead People In Boats (5/5)
07. The Brethren Court
(3/5)
08. Parlay (4/5)
09. Calypso (4/5)
10. What Shall We Die For (5/5)
11. I Don’t Think Now Is The Best (5/5)
12. One Day (5/5)
13. Drink Up Me Hearties (5/5)

มาถึงภาคที่สามกันแล้วสำหรับหนังตระกูล Pirates of the Caribbean กับการผจญภัยที่ต่อเนื่องจากภาค Dead Man’s Chest เมื่อยุคสมัยของโจรสลัดกำลังหมดลงโดยการคุกคามของ Lord Cutler Beckett ผู้กุมกล่องหัวใจของ Davy Jones ทำให้เขามีอำนาจสั่งการเรือ Flying Dutchman ในการกวาดล้างโจรสลัดได้ทั่วมหาสมุทรอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ Will, Elizabeth, และกัปตัน Barbossa ผู้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาในภาคที่แล้ว ต้องหาต่อกรกับกองทัพเรืออังกฤษของ Beckett รวมถึง Flying Dutchman ของ Jones โดยการรวบรวม 9 ขุนพลโจรสลัดซึ่งหนึ่งในนั้นคือกัปตัน Jack Sparrow ผู้ถูกจับไปขังไว้ที่ Davy Jone’s Locker ณ สุดขอบโลกนั่นเอง
Hans Zimmer กลับมาสานต่องานดนตรีจากภาคก่อน โดยยังคงดนตรีออเคสตร้าผสมซินธิไซเซอร์ไว้เช่นเคย ซึ่งในภาคนี้ Zimmer ก็ยังได้แต่งธีมใหม่ขึ้นมาอีกสองตัว ส่วนจะเป็นอะไรนั้น มาดูกันเลยดีกว่าครับ
ชักธงเรือขึ้นกันเลยในเพลงนาทีกว่าๆ Hoist The Colours จากเสียงร้องเดี่ยวของเด็กชายในช่วงแรกที่ถูกเสริมด้วยคอรัสอันทรงพลังในเวลาต่อมา โดยทำนองที่พวกเขาร้องนี่ล่ะคือเมนธีมแรกอันเป็นตัวแทนความรู้สึกแรงกล้าและพร้อมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเหล่าโจรสลัดทั้งมวล Singapore เริ่มจากดนตรีเอื่อยๆขายบรรยากาศแบบจีนๆในนาทีแรก จากนั้นก็เปลี่ยนอารมณ์ฉับพลันมาเป็นการบรรเลงดนตรีออเคสตร้ามันส์ๆที่มีการแทรกธีมย่อยกองทัพอังกฤษของ Lord Cutler Beckett เข้ามาด้วย จากนั้นก็กลับมาเป็นดนตรีจีนกับเสียงขิมเบาๆ ก่อนจะจบลงด้วยธีมสุดป่วนของ Jack Sparrow ตบท้าย

At Wit’s End คือ การเดินทางไปยัง Davy Jone’s Locker ณ สุดขอบโลกซึ่งเปิดตัวด้วยดนตรีลอยๆเรื่อยๆในสามนาทีแรก แล้วตามด้วยการบรรเลงเครื่องสายสุดอลังการอันเป็นการนำเสนอธีมตัวที่สองซึ่งเป็นทั้งธีมแห่งการผจญภัยและเลิฟธีมระหว่าง Will กับ Elizabeth (แต่ในกรณีนี้เป็นธีมแห่งการผจญภัยมากกว่า) จบส่วนนี้ก็เข้าสู่ช่วงผ่อนด้วยธีมของ Davy Jones ซักพักก่อนดนตรีจะกลายเป็นทำนองบ้าคลั่งสุดโกลาหลปิดท้ายที่ชวนตะลึงงันสุดๆ Multiple Jacks เดิมทีธีม Jack Sparrow ก็กวนได้ที่อยู่แล้ว เพลงนี้ขอเอาให้กวนกว่ากับการประยุกต์ธีมดังกล่าวโดยเอาเลื่อยสีกับสายไวโอลินให้ได้เสียงสุดแนวท่ามกลางบรรยากาศของเพลงที่ฟังดูป่วนจิตอยู่แล้ว (โอ้ว!)
Up Is Down ดนตรีทำนองสนุกสนานเฮฮาจากเครื่องสายสุดเร้าใจแฝงความหนักแน่นจากเครื่องเป่าและเพอคัสชั่นๆที่ฟังกี่ทีก็ไม่เบื่อ I See Dead People In Boats เปิดตัวด้วยเลิฟธีมเหงาๆจากเครื่องเป่า ต่อด้วยดนตรีเวิ้งว้างเหมือนอยู่ในแดนผีพักใหญ่ก่อนจะจบส่วนนี้ด้วยเครื่องสายบาดใจ จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วง 2 นาทีสุดท้ายที่พวกเครื่องสายและเครื่องเป่าหันมาเล่นทำนองน่าสะพรึงและสะเทือนใจปิดท้าย

The Brethren Court เพลงที่เหมือนจะดีเนื่องจากเป็นการนำธีม Hoist The Colours มาบรรเลงขยายแต่น่าเสียดายที่มันสั้นและไม่ทรงพลังเท่าที่ควร Parlay ออกแนวคาวบอยประจัญบานยังไงยังงั้น โดยเพลงนี้มีเครื่องสายบรรเลงประกอบฉากหลังขณะที่พระเอกของเพลงคือเสียงกีตาร์ไฟฟ้าสุดเท่ห์ที่ผมรู้มาว่าผู้กำกับ Gore Verbinski ลงทุนเล่นกีตาร์นี้เองซะด้วย!

Calypso ดัดแปลงมาจากเพลง Tia Dalma ซุึ่งมีจุดเด่นตรงการก่อตัวของคอรัสสุดยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามช่วงกลางเพลง What Shall We Die For นี่ล่ะคือเพลงที่นำธีม Hoist The Colours มาใช้ได้ทรงพลังสุดๆ! ตั้งแต่การเปิดตัวด้วยเพอคัสชั่นและเครื่องเป่าเบาๆพอซึ้งก่อนเปลี่ยนมาบรรเลงออเคสตร้าเต็มรูปแบบพร้อมคอรัสสุดฮึกเหิมซึ่งตอกย้ำวลีที่ว่า “Never Shall We Die” โดยเพลงนี้ยังปูทางให้ผลงานชิ้นเอกที่ยาวกว่า 10 นาทีของอัลบั้มอย่าง I Don’t Think Now Is The Best ซึ่งเป็นการนำธีมต่างๆตั้งแต่ภาคแรกมาเรียบเรียงใหม่ให้กลายเป็นเพลงสำหรับฉาก Epic Battle ที่ล่อกระหน่ำออเคสตร้าและคอรัสไปกว่า 90% ของเพลงกันเลยทีเดียว

และแล้วก็มาสู่ช่วงคลี่คลายกับสองเพลงสุดท้าย One Day ที่ครึ่งแรก คือ ดนตรีแห่งชนะและความยินดีปรีดาสุดยิ่งใหญ่ (แต่ก็มีแอบรีไซเคิลทำนองจาก King Arthur นิดๆ) ส่วนครึ่งหลังของเพลง คือ การบรรเลงเลิฟธีมที่ปลดปล่อยความโรแมนติกแบบเต็มที่ด้วยเครื่องเป่าและเครื่องสายเสียงสูง ทั้งนี้ยังคงแฝงอารมณ์แห่งการจากลาที่ถ้าไม่ตั้งตัวกันดีๆนี่มีเล่นเอาน้ำตาซึมกันเลยทีเดียว Drink Up Me Hearties เพลงปิดท้ายสุดซาบซึ้ง โดยนาทีแรกของเพลงจะโฟกัสไปที่ตัวละครของ Jack Sparrow กับทำนองกวนๆที่คุ้นเคยก่อนจะถูกนำมาร้อยเรียงต่อกับธีม He’s A Pirate อย่างแนบเนียน ซึ่งตามมาติดด้วยทำนองดนตรีสุดเร้าใจจาก Up Is Down และเลิฟธีมเพราะๆจาก One Day ตามลำดับ เป็นการปิดเรื่องราวของหนังโจรสลัดไตรภาค(แรก)ที่สมบูรณ์แบบเสียจริงๆ

สุดท้ายนี้ผมก็พูดได้เต็มปากเลยครับว่านี่คืองานเพลง Pirates of The Caribbean ที่ดีที่สุด (สำหรับไตรภาคแรก) นอกจาก Hans Zimmer จะขจัดข้อบกพร่องคือความน่าเบื่อยืดเยื้อของภาคที่แล้วออกไป เขายังได้สร้างสรรค์ธีมใหม่ๆที่มีเสน่ห์และจับใจยิ่งกว่าครั้งที่แล้วเสียอีก ทั้งนี้ลักษณะการเรียบเรียงดนตรีออเคสตร้านั้นก็แสนจะโดดเด่นพอๆกับการทำรวมมิตรธีมเก่าปนใหม่ให้ออกมาดีได้ไม่ติดขัด ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่านี่ล่ะคือหนึ่งในงานสกอร์ที่ดีที่สุดของ Hans Zimmer ซึ่งคงจะน่าเสียดายๆถ้าคุณพลาดอัลบั้มนี้ไป!

Final Score: 9/10

One Response to “Hans Zimmer – Pirates of the Caribbean: At World’s End”

Leave a reply to Hans Zimmer feat. Rodrigo Y Gabriela – Pirates Of The Caribbean: On Stranger Tides « ChevaliersDeSangreal's Blog Cancel reply